การประชุมรับฟังแนวทางการบันทึกข้อมูล ของ หมออนามัย |
เจาะลึก...รพ.สต.!วันที่เป็น'หมออนามัยหน้าจอ'
หมออนามัยเป็นอาชีพที่น่าสงสาร การจะหาวิชาชีพของตัวเองยังหาได้ยาก มันยากเพราะอะไรนะเหรอครับ ก็เล่นไปแย่งงานชาวบ้านเค้าทำไปหมด การรักษา=หมอ (หมออนามัยก็ทำ) การจ่ายยา=เภสัธ(หมออนามัยก็ทำ) หัตถการ เย็บแผล ทำแผล = พยาบาล(หมออนามัยก็ทำ) การเงิน,พัสดุ,ลงข้อมูล,คอมพิวเตอร์,ออกเยี่ยมบ้าน,บำบัดยาเสพติด, ดูแลกำกับ อสม.,คัดกรองสารพัดโรค ฯลฯ และอีกมากมาย นี่อย่างไรเล่า ถ้าหากหมออนามัยได้วิชาชีพ อาชีพอื่นคงไม่มีวิชาชีพแล้วละ เพราะแย่งเค้ามาทำหมด แต่ปัจจุบันก็ผ่านแล้วนะครับ เรื่องวิชาชีพ แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งคงต้องติดตามต่อไป
หมออนามัย เป็นอาชีพ ที่หลายๆหน่วยงานในระดับประเทศ รวมถึงสาขาอาชีพอื่นๆ มองไม่เห็นความสำคัญในบทบาทสักเท่าไหร่ ยกเว้น "ชาวบ้าน" ที่จะรู้ว่า "หมออนามัย" สำคัญเพียงไร ?
อสม. มาจากไหน ? เริ่มต้นจากอะไร ? ทำไมทุกวันนี้มีความสำคัญ และอาจจะมีความสำคัญมากกว่า หมออนามัยซะด้วยซ้ำ ในสายตาของกลุ่มคนบางกลุ่ม แต่เคยคิดบ้างหรือไม่ หากไม่มีหมออนามัย ใครจะทำงานร่วมกับ อสม. ใครคือคนที่ทำให้ ชาวบ้านธรรมดาๆคนหนึ่ง อยากจะออกมาอาสาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกันเรื่องสุขภาพ ถ้าไม่ใช่บทบาท หน้าที่และจิตวิญญาณของหมออนามัย ที่มุ่งมั่นทำเพื่อประชาชน ชาวบ้าน อย่างแท้จริง
ณ วันนี้ บทบาทหมออนามัยในชุมชนน้อยเหลือเกิน ความเสียสละ และบทบาทอันน่าศรัทธาต่อชาวบ้านมันหายไป !! เนื่องจากลักษณะการทำงานของ หมออนามัยมันเปลี่ยนไปแล้ว !!
การทำงานที่เน้นผลตอบแทนเป็นเงิน ซึ่งไม่ใช่เงินเข้ากระเป๋าของหมออนามัย แต่เข้าสถานีอนามัย(ปัจจุบันคือ รพ.สต.) สถานีอนามัย หรือ รพ.สต.มีการบริหารงาน บริหารเงินด้วยตัวเอง การขาดเงินของสถานีอนามัยจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย เพราะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้ และการที่จะได้เงินสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ ก็ต้องมี "งาน" ไปแลก "เงิน"
และงานที่ว่าก็คือ "ผลงาน" จากการบันทึกข้อมูลสุขภาพนั่นเอง ข้อมูลสุขภาพอันมากมายมหาศาล และไม่รู้จักจบ จักสิ้น เพราะหมออนามัยเรามักจะยุ่งกับคนไปซะทุกเรื่อง และตั้งแต่เกิดจนตาย แค่ข้อมูลเพียงคนเดียว ก็มากมายแล้ว และถ้าเป็นหลักพัน หลักหมื่นละ จะมากมายขนาดไหน ก็ต้องมานั่งกรอกข้อมูลกันทุกวี่วัน ชาวบ้านนะเหรอ.. ไม่ได้เห็นหน้ามาหลายปีแล้วสำหรับหลายๆคน (นั่งอยู่ในห้องเล็กๆ ในสถานีอนามัยนั่นแหละ กำลังบันทึกข้อมูลอยู่นั่นเอง) ไม่ทำก็ไม่ได้ โดนเจ้านายสั่ง เจ้านายคนไหน อันนี้ เค้าก็สั่งมาเป็นทอดๆนั่นแหละครับ จะโทษใครก็ไม่ได้ นโยบายเค้ามาแบบนี้ ถ้าจะแก้ ก็ต้องแก้ที่เบื้องบน แก้ที่นโยบาย แก้ที่โครงสร้างระบบ
มีคนกล่าวไว้ว่า "หากเปรียบหมออนามัยเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ก็อาจจะเปรียบหมออนามัยได้กับ "เป็ด" เพราะว่าเป็ดบินก็ได้ แต่ไม่เก่งเท่านก วิ่งบนพื้นดินก็ได้ แต่ก็ได้ไม่ดีเท่าสัตว์บกอื่นๆ ว่ายน้ำก็ได้แต่ก็คงไม่เก่งเท่าปลา,ปู ,กุ้ง ซึ่งเป็นสัตว์น้ำ" ไม่ว่าเรื่องอะไร ก็มอบให้หมออนามัยทำซะหมดทุกอย่าง หมออนามัยไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ (แปลกนะ ถ้าเป็นวิชาชีพอื่นๆ เค้าจะบอกว่า ผมทำไม่ได้หรอก ผมไม่ได้เรียนมา แล้วคนที่บอกให้ทำก็จะบอกว่า เอ่อ.. เค้าไม่ได้เรียนมานี่นะ งั้นไม่ต้องทำ) ถึงเวลาแล้วหรือยัง ? ที่จะต้องมากำหนดบทบาทและหน้าที่ของหมออนามัยให้ชัดเจน อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
อาชีพใดๆก็ตาม จะมีรายได้มากหรือน้อย แต่ถ้าหากเป็นงานที่สุจริต ย่อมมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบัน มักจะแบ่งแยกศักดิ์ศรีจาก "รายได้" คนที่มีรายได้น้อย มีศักดิ์ศรีน้อย คนมีรายได้มาก มีศักดิ์ศรีมาก หมออนามัยเงินเดือนน้อยจึงถูกกระทำเหมือนผู้น้อยที่ไร้ทางเลือก ไม่มีสิทธิ์ มีเสียงจะไปโต้ตอบอะไรกับเค้า แน่นอนว่าหากหมออนามัยจะเรียกร้องความเป็นธรรม ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปเรียกร้องความเป็นธรรมได้จากที่ไหน ? แล้วใครจะให้ความเป็นธรรมได้ ?
" หมออนามัย ห่วงใย สุขภาพประชาชน "
" หมอ รพ.สต. ห่วงใย ข้อมูลสุขภาพ "
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น